เรื่องโดย Suddan Wisudthiluck
ห้องเล่านิทานและห้องสมุดของบ้านห้วยหินลาดใน
รู้สึกยินดีและปลื้มใจมากที่มีโอกาสมาร่วมงานเปิด “ห้องเล่านิทานและห้องสมุด” ของบ้านห้วยหินลาดใน อำเภอเวียงป่าเป้าจังหวัดเชียงราย
บ้านห้วยหินลาดในนี้ เป็นหมู่บ้านชาวปกาเกอะญอเล็กๆ มีชื่อเสียงในเรื่องของ “คนอยู่ป่า” และมีสายสัมพันธ์ลึกซึ้งของผู้คน ต้นข้าว ใบชา และน้ำผึ้ง ชุมชนนี้เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นมานานนับ 10 ปีโดยการบุกเบิกของศาสตราจารย์ทักสึฮิโคะ คาวาชิม่า
พิธีเปิด “ห้องเล่านิทานและห้องสมุด” เมื่อวานนี้ ยืนยันให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของชุมชนบ้านหินลาดในกับประเทศญี่ปุ่นที่ยังคงแน่นแฟ้น แม้ศาสตราจารย์ทักสึฮิโคะ คาวาชิม่าจะล่วงลับไปแล้ว (ภริยาของท่านได้มาเป็นผู้เปิดห้องสมุดนี้ และกล่าวไว้ว่า “ขอบคุณที่ยังคิดถึงอาจารย์คาวาชิม่า)
ห้องเล่านิทานและห้องสมุดไม้หลังนี้ สร้างขึ้นข้างลำธารเล็ก ๆ ที่มีแนวคิดในการออกแบบน่าสนใจ ความตั้งใจของผู้สร้าง หวังจะให้เป็นพื้นที่ของเรื่องเล่า การเล่าเรื่องและแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและสื่อสารเรื่องราวของชุมชนกับโลกข้างนอก
ผู้ออกแบบเล่าให้ฟังว่า เขาได้แรงบันดาลใจและโดยอาศัยรูปแบบของรังผึ้งและลังเลี้ยงผึ้งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ”อาชีพ“ และวิถีชีวิตของคนในชุมชน
เขาออกแบบให้ผนังประกอบด้วยช่องว่างเพื่อใช้จัดวางหนังสือและกล่องบรรจุใบชา ช่องหน้าต่างทุกบานของอาคารผลักเปิด-ปิดได้เพื่อการไหลเวียนของลม-แสงสว่าง และการปรับใช้ตามสถานการณ์ อาคารหลังนี้ยังมีทางขึ้นอีกด้านหนึ่งไปยังชานกลางแจ้งที่สร้างไว้เหนือลำธาร นอกจากจะเป็นมุมนั่งอ่านหนังสือหรือตั้งวงสนทนาเล็กๆ รอบเตาไฟในช่วงฤดูหนาว(ด้วยเหตุนี้ ผู้ออกแบบจึงให้ผนังด้านหนึ่งทำเป็นกำแพงกองฟืนเพื่อให้หยิบมาใช้ได้โดยสะดวก) จากพื้นที่บริเวณนี้สามารถเดินขึ้นไปยังชั้นสองของอาคารได้
ความน่าสนใจในงานออกแบบของอาคารชั้นสองนี้ คือใช้วัสดุไม้ไผ่เป็นส่วนใหญ่ แน่นอนว่ามีหน้าต่างที่เปิดปิดได้อย่างอิสระ เพื่อแปลงให้เป็นห้องเสวนาหรือฉายหนังได้
ผู้ออกแบบเล่าให้ฟังว่า ด้วยเข้าใจในสัจจะของวัสดุที่มีอายุไม่นานนัก จึงออกแบบให้พื้นที่นี้รองรับ หากต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของวัสดุเป็นแบบอื่นๆได้ในภายหลัง เดิมทีจะมุงหลังคาด้วยใบค้อแบบดั้งเดิม แต่อาจจะยุ่งยากและเสียเวลาในการซ่อมแซมบ่อยๆ ทางชุมชนจึงตัดสินใจมุงด้วยกระเบื้อง (แต่เป็นกระเบื้องแบบที่นิยมในยุครอยต่อระหว่างกระเบื้องดินขอกับกระเบื้องลอนคู่)
แต่ความคิดเรื่องการที่จะสร้างอาคารในแบบดั้งเดิมที่สะท้อนภูมิปัญญาของชุมชน ยังคงมีอยู่ซึ่งจะได้สร้างเป็นอาคารขนาดเล็กอีกหลังหนึ่งเพื่อใช้เป็น ”เรือนน้ำชา“ ตามอย่างแนวคิดการสร้างศาลเจ้าอิเสะ ที่สามารถรื้อและสร้างใหม่แบบเดิมได้ ซึ่งวิธีการนี้จะเก็บรักษา สืบทอดและส่งต่อการก่อสร้างแบบดั้งเดิมไว้ได้
ที่น่าสนใจ ในพิธีเปิดอาคารห้องสมุดและห้องเล่านิทานนี้ เริ่มต้นด้วยการบรรเลงเพลงปะกาเกอะญอ และมีเพลงๆ หนึ่งช่างน่าประทับใจ
คุณประสิทธิ์-ศิลปินชาวปะกาเกอะญอ เล่าให้ฟังว่า จะว่าไปแล้วอาคารหลังที่จะเปิดนี้ก็เหมือนเป็นบ้านหลังหนึ่ง ธรรมดาแล้วคนที่จะสร้างบ้านก็จะต้องเป็นคนที่กำลังจะมีครอบครัว ไม่มีชายโสดคนไหนจะสร้างบ้านไว้ก่อน หากจะสร้างบ้าน ก็ต้องมี“นางฟ้าของบ้าน“ บ้านนั้นเป็นสมบัติของผู้หญิง เมื่อจะแต่งงาน ชายจึงต้องสร้างบ้านขึ้นมาให้กับ ”นางฟ้า“ ของเขา เล่ากันว่า เมื่ออยู่กินกันแล้ว หากฝ่ายหญิงเสียชีวิตไปก่อน ก็จะต้องรื้อบ้านทิ้ง แต่ถ้าฝ่ายชายตายไปก่อน ฝ่ายหญิงก็จะยังอยู่อาศัยในบ้านหลังเดิมนั้นต่อไปได้ เพราะ ”บ้าน“ เป็นสมบัติของเธอ
ในกรณีของอาคารหลังนี้ แม้ดูเหมือนจะเป็นอาคารส่วนกลางของชุมชน แต่ชายหนุ่มที่เป็นตัวตั้งตัวตีนั้นยังเป็นโสด การสร้างอาคารแบบนี้ขณะเป็นโสด ก็อาจจะทำให้มีอุปสรรคขัดขวางการมีคู่อยู่สักหน่อย คุณประสิทธิ์ก็เลยจะแก้เคล็ดด้วยการร้องเพลง ”คือเหน่โม่เจอะ เกคอยเนเดอะ“ ให้
เพลงนี้เป็นการเชื้อเชิญให้ ”นางฟ้า(ทิพย์)“ ให้มาอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้ เพื่อที่ชายโสดจะได้มีบ้านของตัวเองจริงๆ เมื่อเขาได้พบ ”นางฟ้าตัวจริง“ ของเขา ฟังเรื่องเล่านี้ก็ทำให้ใจละลายในความงดงามของผู้สร้างอาคารและความดีงามของศิลปินที่มีแก่ใจแก้เคล็ดให้
สุดท้ายนี้ ขอแสดงความชื่นชมผู้ที่มีส่วนร่วมทุกคนที่ทำให้อาคารริมลำธารนี้เป็นจริงขึ้นมาได้ จะว่าไปแล้ว หนังสือในห้องสมุดก็ไม่แตกต่างจากเรื่องเล่าในนิทาน การที่มีอาคารแห่งหนึ่งในขุนเขาเป็นที่พำนักของสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ต่างไปจากรังผึ้ง ที่หมู่ภมรไปแสวงหามาจากดอกไม้ทั่วไปทั้งป่าเพื่อมารวมไว้ที่นี่ เพื่อส่งต่อความหอมหวานแห่งโลก และผมก็โชคดีที่ครั้งหนึ่งได้เป็นส่วนหนึ่งของที่นี่