เรื่องราวของน้ำผึ้งและชาแห่งบ้านหินลาดใน
บ้านห้วยหินลาดในเป็นหมู่บ้านชาวปกาเกอะญอ มีพื้นที่ป่าที่ชาวบ้านช่วยกันดูแลเป็นพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ ป่าบ้านห้วยหินลาดในเป็นเป็นป่าดิบแล้ง (ป่าไม่ผลัดใบ) สภาพป่าสมบูรณ์เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ที่หลากหลายและเป็นแหล่งต้นน้ำแม่ลาวที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง ชุมชนหินลาดในมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีที่มีความผูกพันกับป่าที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ ทำให้การจัดการทรัพยากรป่ามีความเคารพต่อวิถีธรรมชาติ เน้นความสมดุลธรรมชาติอย่างยั่งยืน การดูแลป่าที่อาศัยการจัดการโดยใช้จารีต ประเพณี และวัฒนธรรม ด้วยวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับบริบทของระบบนิเวศป่านี้ ชาวบ้านจึงใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมและสมัยใหม่ผสมผสานกันแล้วจึงเลือกอาชีพที่รักษาความสมดุลระหว่างมนุษย์กับป่า มีการเรียนรู้ ทดลอง และพยายามปรับตัวโดยการมองหาการดำรงชีพที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและช่วยส่งเสริมให้ระบบนิเวศป่านั้นมีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น คำสุภาษิตโบราณที่ว่า “ออทีเก่อตอที เอาะก่อเก่อตอก่อ” แปลว่าดื่มน้ำรักษาน้ำ ใช้สรรพสิ่งดูแลสรรพสิ่ง ดังนั้นชาวบ้านจึงเลือกการเลี้ยงผึ้งป่ากับการปลูกชาแบบผสมผสานเป็นอาชีพที่หารายได้เป็นหลัก
ผึ้ง ป่า และคน
ผึ้งป่ามีสี่ประเภทคือ ผึ้งหลวง ผึ้งโพรง ผึ้งมิ้น และผึ้งชันโรง ผึ้งที่ชาวบ้านห้วยหินลาดในเลือกที่จะเลี้ยงคือผึ้งโพรงกับผึ้งชันโรง เพราะมีการดูแลและจัดการง่าย โดยเฉพาะการเลี้ยงผึ้งโพรงของบ้านหินลาดในเลี้ยงด้วยวิธีการธรรมชาติ โดยเริ่มต้นศึกษาวิธีการเรียนรู้จากภูมิปัญญาดั้งเดิมและเรียนรู้เพิ่มเติมจากประเทศญี่ปุ่น ผึ้งเป็นแมลงที่ช่วยให้ป่าอุดมสมบูรณ์เพราะผึ้งช่วยผสมเกสรให้กับต้นไม้ในป่า เพราะฉะนั้นการเลี้ยงผึ้งถือเป็นการช่วยป่า ช่วยผึ้ง และช่วยคน ผึ้งเหล่านี้มักอาศัยอยู่ในโพรงของต้นไม้หรือในโพรงดิน ในชุมชนบางแห่งมีการศึกษาและทดลองเลี้ยงผึ้งโพรงโดยใช้กล่องที่ทำจากเศษไม้ โดยทาขี้ผึ้งแท้รอบๆ ทางเข้าของผึ้งที่มีลักษณะเป็นรูถูกเจาะอยู่ข้างกล่อง เพื่อล่อผึ้งเข้ามาอยู่ในกล่องนั้น กล่องผึ้งจะถูกวางไว้ในสถานที่เหมาะสม เช่น ใต้ต้นไม้ใหญ่, ข้างลำธาร หรือโขดหิน โดยปล่อยให้ผึ้งหาเกสรดอกไม้ตามธรรมชาติ
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการวางกล่องผึ้งคือราวเดือนธันวาคมถึงมกราคม เนื่องจากในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนเป็นช่วงที่ดอกไม้ในป่าออกดอกมากมาย เช่น ดอกก่อ, ดอกพยอม และดอกดงดำ ซึ่งแต่ละชนิดมีรสชาติ, กลิ่น และสีที่แตกต่างกัน น้ำผึ้งจะถูกเก็บรวบรวมในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ ชุมชนยังนำรายได้จากการขายน้ำผึ้งส่วนหนึ่งเข้ากองทุน เพื่อใช้ในการดูแลทรัพยากรป่า เช่น การทำแนวกันไฟและเฝ้าระวังไฟป่า เพื่อป้องกันการเกิดไฟป่าในแต่ละปี
ชาธรรมชาติ
“ชา” ส่วนมากจะมีอยู่แถบภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งทางชาวล้านนาจะรู้จักกินชาแบบเมี่ยงอม การอมเมี้ยงเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของล้านนาสมัยก่อน ต้นชาหมู่บ้านหินลาดในมีมานานเนื่องจากที่นี่เป็นป่าชามาก่อน ซึ่งที่หินลาดในเดิมทีจะเก็บเป็นชาเมี้ยงก่อน และหลังจากนั้นมีคนจีนฮ่อเข้ามาสอนวิธีการเก็บ การแปรรูป และการดื่มชา ที่นี่จึงเริ่มมีวัฒนธรรมการดื่มชาเข้ามา ซึ่งในระยะเวลาดั่งกล่าวชาวบ้านจึงเริ่มมีการดูแลต้นชาอย่างจริงจังมากขึ้น เนื่องจากเกิดเป็นรายได้ให้กับชาวบ้านมากขึ้น โดยเริ่มจากการให้ต้นชาได้แดดมากขึ้นโดยการตัดแต่งกิ่งไม้บางต้นที่มีลักษณะใบทึบออกบางส่วน และมีการตัดหญ้าบริเวณรอบๆต้นชา เนื่องจากชาที่นี่เป็นชาพันธุ์อัสสัมซึ่งสามารถเติบโตใต้ร่มไม้ได้ดีทำให้ไม่จำเป็นต้องตัดต้นไม้ใหญ่ลง ต่อมาชาวบ้านมีการขยายจำนวนต้นชาโดยการนำเมล็ดมาหว่านเพิ่มเนื่องจากชาต้นแม่นั้นมีไม่มากพอ เราจึงเรียนรู้และพัฒนาชาตามยุคสมัยมาจนถึงยุคปัจจุบัน ณ ตอนนี้มีชาของชุมชนหินลาดในมีการแปรรูปอยู่สองแบบ คือ
- ชาเขียว (โดยกระบวนการคั่วในกระทะก่อนจากนั้นเอาไปนวดแล้วไปตากแห้ง)
- ชาดำ (ผึ่งลม นวด และตากแห้ง)
ซึ่งชาในแต่ละฤดูกาลนั้น รสชาติ กลิ่น และสีจะต่างการออกไป ฤดูร้อน เรียกว่าชาต้นปี จะมีรสชาติ กลิ่น และสีที่เข้มกว่าฤดูอื่นๆ ฤดูฝน จะมีรสชาติ กลิ่น และสีที่จาง ความเข้มข้นจะลดลงเพราะโดนน้ำฝนชำระล้าง และฤดูหนาว เรียกว่า ชาน้ำค้างหรือชาเหมย จะมีรสชาติที่ปานกลางเมื่อเทียบกับอีกทั้งสองฤดู และซึ่งชาที่เราแปรรูปมาแล้วนั้นยิ่งเก็บนานยิ่งมีรสชาติที่ดี
ดังนั้นชาหินลาดในเป็นชาธรรมชาติพันธุ์อัสสัม วิธีการปลูกชาใช้วิธีควบคุมดูแลทุกอย่างด้วยกระบวนการทางธรรมชาติโดยอาศัยระบบนิเวศป่า ในสวนชาของบ้านห้วยหินลาดในไม่มีเพียงเฉพาะต้นชาเท่านั้น แต่มีหลากหลายกว่าร้อยชนิด เช่นจำพวกไม้ยืนต้น ปาล์ม หวาย และตระกูลขิงข่าเป็นต้น นอกจากปลูกเป็นธรรมชาติแล้วขั้นตอนการแปรรูปก็เป็นแบบธรรมชาติและเป็นกรรมวิธีดั้งเดิม เพราะฉะนั้นการแปรรูปจึงต้องอาศัยความใส่ใจ จึงใช้ระยะเวลามากกว่าและได้ปริมาณที่จำกัดในแต่ละปี
ผลิตภัณฑ์ชุมชน
ชาหินลาดใน
ชาหินลาดในเป็นชาธรรมชาติพันธุ์อัสสัม การปลูกชาใช้วิธีควบคุมดูแลทุกอย่างด้วยกระบวนการทางธรรมชาติโดยอาศัยระบบนิเวศป่า ลักษณะคือปลูกแซมเข้าไปในป่า ในสวนชาของบ้านห้วยหินลาดในไม่มีเพียงเฉพาะต้นชาเท่านั้น แต่มีไม้ยืนต้น ปาล์ม หวาย และตระกูลขิงข่าเป็นต้น นอกจากปลูกเป็นธรรมชาติแล้วขั้นตอนการแปรรูปก็เป็นแบบธรรมชาติ ซึ่งจะใช้ไฟจากฟืนและตากแดดโดยตรงจากแสงอาทิตย์ เพราะฉะนั้นการแปรรูปจึงใช้เวลามากกว่าและได้ปริมาณที่จำกัด
“กึ” เป็นภาษาปกาเกอะญอหมายถึงตะกร้าที่สานด้วยไม้ไผ่ซางที่มีอายุครบสามปีหรือใช้หวายก็ได้ มีสายสะพายทำจากหวายเพราะหวายจะรับน้ำหนักได้มากว่าไผ่ “กึ” ใช้เป็นภาชนะสำหรับใส่ผักที่ช้ำได้ง่ายในไร่หมุนเวียนเช่นใบ “ห่อวอ” มะเขือเทศสุก เป็นต้น
ด้วยคุณลักษณะของ “กึ” คนปกาเกอะญอในชุมชนหินลาดในจึงนิยมเอาไปใช้เป็นภาชนะใส่ใบชา เพราะใบชาเป็นใบไม้ที่ช้ำได้ง่าย และเมื่อใบชาช้ำแล้วจะทำให้รสชาติไม่ได้ตามที่ต้องการด้วย
น้ำผึ้งหินลาดใน
น้ำผึ้งหินลาดในเป็นผึ้งโพรงที่เลี้ยงด้วยวิธีการธรรมชาติ โดยเริ่มต้นศึกษาวิธีการเรียนรู้จากภูมิปัญญาดั้งเดิมและเรียนรู้เพิ่มเติมจากประเทศญี่ปุ่น ผึ้งเป็นแมลงที่ช่วยให้ป่าอุดมสมบูรณ์เพราะผึ้งช่วยผสมเกสรให้กับต้นไม้ในป่า เพราะฉะนั้นการเลี้ยงผึ้งถือเป็นการช่วยป่า ช่วยผึ้ง และช่วยคน
น้ำผึ้งโดยกลุ่มเยาวชน เป็นน้ำผึ้งที่ต้องการสร้างกิจกรรมให้กับน้องๆเยาวชนในหมู่บ้านให้ได้เรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์และวิธีการเลี้ยงผึ้ง น้องๆจึงได้เรียนรู้ด้วยและยังสามารถสร้างรายได้อีกด้วย รายได้จากการจำหน่ายเข้ากองทุนกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาเยาวชนหินลาดในและการจัดการป่าบ้านห้วยหินลาดใน
ประวัติ “ผึ้ง” บ้านห้วยหินลาดใน
ในอดีตนั้นน้ำผึ้งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในชีวิตประจำวันของคนที่อาศัยในป่า ในสมัยโบราณชาวปกาเกอะญอนิยมใช้น้ำผึ้งมาทำเป็นยาสมุนไพร ทั้งโดยการผสมเพื่อดึงสรรพคุณจากตัวสมุนไพร เพื่อลดรสขมของสมุนไพรเพื่อง่ายต่อการรับประทาน หรือการใช้เป็นยาสมุนไพรโดยใช้ทาและรับประทานโดยตรงเป็นต้น การเลี้ยงผึ้งในอดีตนั้นเป็นการใช้วัสดุที่ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน โดยการใช้กระบอกไม้ไผ่ในการใช้ทำรังกรณีนี้เช่นผึ้งชันโรง และสมัยอดีตผึ้งชนิดอื่นนั้นจะไม่นิยมเลี้ยงกันมากนัก แต่จะใช้วิธีหารังผึ้งจากในป่าธรรมชาติมาเก็บ เช่นผึ้งหลวง และผึ้งโพรง ต่อมาประมาณช่วงปีพ.ศ.2549 ศ.ทักสึฮิโคะ คาวาชิม่า อาจารย์จากมหาวิทยาลัยกากุชูอิน ได้ติดต่อผ่านทางอาจารย์พลวัฒน์ ประพัฒน์ทอง อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยได้ติดต่อเพื่อเข้ามายังหมู่บ้านหินลาดใน ท่านอาจารย์ทักสึ คาวาชิม่า ได้มีการพูดคุยกับชาวบ้านหลายประเด็นมากเกี่ยวกับการสนับสนุนกิจกรรมที่ชาวบ้านในหมู่บ้านกำลังทำ โดยเฉพาะเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บทสรุปจากการปรึกษาหารือคือการเลี้ยงผึ้ง เพราะตรงกับคำสุภาษิตปกาเกอะญอที่ว่า “ออทีเก่อตอที เอาะก่อเก่อตอก่อ” ซึ่งแปลว่า ดื่มน้ำรักษาน้ำ ใช้ป่ารักษาป่า การใช้อย่างไรให้เพิ่มมากขึ้น ก็ตัวอย่างเช่นผึ้ง ผึ้งยิ่งกินน้ำหวานจากดอกไม้ก็จะยิ่งได้ผสมเกสร และยิ่งต้นไม้ได้ผสมเกสรต้นไม้ก็จะเพิ่มจำนวนที่มากขึ้น การเลี้ยงผึ้งเป็นอาชีพก็ได้เริ่มขึ้น ในปี พ.ศ.2551
ช่วงที่มีการเริ่มเลี้ยงผึ้งอย่างจริงจังในชุมชน ได้มีการทดลองเลี้ยงโดยการเอาผึ้งสายพันธุ์ยุโรปมาเลี้ยง 20 กล่อง เป็นลักษณะการเลี้ยงแบบฟาร์มทั่วไป แต่ผึ้งพันธุ์ยุโรปไม่สามารถปรับตัวอยู่ในป่าได้เนื่องจากมีศัตรูในป่าอยู่รอบด้าน เช่น นก ตัวต่อ มดแดง เป็นต้น เลี้ยงได้เพียงแค่ประมาณสามเดือนผึ้งตายหมดทั้ง 20 รัง ตอนนั้นก็ได้มีการประชุมพูดคุยกันถึงวิธีการเลี้ยงแบบต่างๆที่มีความเป็นไปได้ มีการทดลองในแบบต่างๆ จนได้ลงตัวที่การเลี้ยงผึ้งพันธุ์ท้องถิ่น มีการไปศึกษาวิธีการเลี้ยงจากบ้านกำแพงหิน อ.ดอยสเก็ต จ.เชียงใหม่ และไปเรียนวิธีการเลี้ยงและการจัดการเพิ่มเติมที่ จ.โมริโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ในปีพ.ศ.2558
ผึ้งนอกจากจะช่วยเรื่องนิเวศป่าแล้วยังทำให้เกิดเป็นรายได้ขึ้นมาในชุมชนและรายได้นั้นก็กลับมาสู่การดูแลรักษาป่า ผึ้งในชุมชนจึงมีความสำคัญที่ช่วยทั้งคนและป่า ผึ้งเป็นตัวขับเคลื่อนตัวหนึ่งที่สำคัญมากต่องานอนุรักษ์เพราะผึ้งเป็นกลไกสำคัญในผสมเกสรต้นไม้ในป่า นอกจากนี้ผึ้งยังเป็นตัวสื่อสารเรื่องราวกิจกรรมการอนุรักษ์ป่าของคนในชุมชนให้กับบุคคลภายนอกให้ได้รับรู้เรื่องราวของความผูกพันระหว่างคนกับป่า
ในปัจจุบันนี้มีผลิตภัณฑ์จากผึ้ง 5 ชนิด คือ น้ำผึ้งโพรง น้ำผึ้งหลวง น้ำผึ้งชันโรง ขี้ผึ้ง และสบู่น้ำผึ้ง จากกลุ่มชาวบ้านและกลุ่มเยาวชน