ความเป็นมาของหมู่บ้านห้วยหินลาดใน
บ้านห้วยหินลาดในเรียกตามลักษณะของลำห้วยที่เป็นหินลาดลงตามห้วย เป็นชนเผ่าปกาเกอะญอ ไม่ได้มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานที่แน่นอนว่าได้ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อไหร่ แต่จากการสอบถามผู้อาวุโสที่สุดในหมู่บ้าน ทราบว่าหมู่บ้านห้วยหินลาดในมีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ ปีมาแล้ว จากคำบอกเล่าสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ผู้นำประเพณี(ฮี่โข่)หมู่บ้านจนถึงคนที่ ๓ (คนปัจจุบันอายุ ๗๐ กว่า) บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งชุมชนคือนายสุกา ปะปะ ซึ่งอพยพมาจากอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๑–๒๕๑๒ มีการแยกครอบครัว บางส่วนไปอยู่ห้วยหินลาดนอก เพราะสะดวกในการทำนา บางส่วนก็ตามไปอยู่กับพี่น้องบ้านท่าขี้เหล็ก เพราะไปหาที่ทำนา
ปีพุทธศักราช ๒๕๔๓ ได้รวมหมู่บ้าน ห้วยหินลาดนอก, ห้วยหินลาดใน, ผาเยือง, ห้วยทรายขาว ประกาศเป็นหมู่บ้านทางการ ห้วยหินลาดในเป็นหมู่บ้านหลัก เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ มีผู้ใหญ่บ้านดำรงตำแหน่งจนถึงปัจจุบันแล้ว ๓ คน ปัจจุบันนายดวงดี ศิริ ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน
รางวัลระดับนานาชาติ
นายปรีชา ศิริ ได้รับรางวัลจากสหประชาชาติด้านสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ชื่อรางวัล “United Nations Forest Hero Award” ในปีพ.ศ.๒๕๕๖
https://www.un.org/esa/forests/outreach/forest-heroes/asia-pacific/index.html
การจัดการป่าชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน
จากสภาพป่าบ้านห้วยหินลาดในเป็นสภาพป่าสมบูรณ์เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ที่หลากหลายและเป็นแหล่งต้นน้ำแม่ลาวที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง ชุมชนหินลาดในมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีที่มีความผูกพันกับป่าที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ ทำให้การจัดการทรัพยากรป่ามีความเคารพต่อวิถีธรรมชาติ เน้นความสมดุลธรรมชาติที่อย่างยั่งยืน ต่อมาในช่วงปี พ.ศ.๒๕๒๙–๒๕๓๑ ได้มีการสัมปทานป่าไม้ ทำให้ต้นไม้ใหญ่ ๆ ของชุมชนได้ถูกตัดไปหลายต้น ซึ่งเป็นการหลบหลู่ความเชื่อและความรู้สึกของชุมชนเป็นอย่างมาก ทำให้การต่อสู้เพื่อรักษาผืนป่าในขณะนั้น เป็นการขอร้องไม่ให้ตัดไม้ในพื้นที่รัศมีหมู่บ้านแต่ไม่เป็นผล จนกระทั่งได้มีการประกาศยกเลิกการสัมปทานป่าไม้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ชุมชนบ้านห้วยหินลาดในยังคงเผชิญกับกฎหมายป่าไม้ที่ไม่เป็นธรรม กล่าวคือตอนประกาศพื้นที่เขตป่าสงวนไม่มีการลงพื้นทีดูว่ามีชุมชนอาศัยอยู่ก่อนหน้านั้นหรือไม่ จึงเกิดการเรียกร้องและทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้การดำรงวิถีชีวิตที่ขาดความมั่นใจในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ทำให้ต้องออกไปต่อสู้เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหา เรื่องป่าไม้และที่ดินร่วมกันกับเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ(คกน.) ในช่วงวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๓๙ ซึ่งได้ทราบข่าวจากสถานีวิทยุกระจายเสียง พากษ์ภาษา ปกาเกอญอ และไปร่วมเรียกร้องร่วมกับสมัชชาคนจนที่หน้าทำเนียบรัฐบาล จำนวน ๙๙ วัน ซึ่งมีมติครม.ของรัฐบาลที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในแนวทางปฏิบัติก็ยังไม่ชัดเจนในขณะนี้ จากการที่ชุมชนได้มีการจัดการทรัพยากร ตามประเพณีไนช่วงแรกซึ่งเป็นการจัดการตามความเชื่อและการเคารพต่อธรรมชาติ ซึ่งได้เริ่มพัฒนากฎระเบียบชุมชน
เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ขึ้นมาใหม่ และจำแนกพื้นที่ทำกิน พื้นที่ป่าและที่อยู่อาศัยขึ้นอย่างชัดเจน เพื่อเป็นแบบอย่างในการเรียกร้องให้เกิดการยอมรับคนอยู่กับป่าจากคนภายนอกและรัฐบาล องค์กรในชุมชนจากเดิมมีผู้นำทางธรรมชาติเป็นผู้กำหนดตามความเชื่อทางวัฒนธรรม ทำให้ต้องมีการจัดโครงสร้างของคณะกรรมการในการดูแลรักษาป่าขึ้นมาใหม่ ซึ่งทำให้ชุมชนต้องมีความระมัดระวังในเรื่องของความขัดแย้งจากคนภายนอก และหมู่บ้านใกล้เคียงในการใช้ประโยชน์จากป่าร่วมกัน
กฎระเบียบป่าชุมชน
ห้ามตัดไม้ขายในเขตป่าชุมชนและเขตป่าอนุรักษ์
ห้ามล่าสัตว์ป่าในเขตป่าอนุรักษ์และป่าชุมชนในระยะรัศมี ๑ กิโลเมตร
ห้ามบุกรุกและทำลายป่าในเขตป่าต้นน้ำ
ห้ามเผาป่าเพื่อประโยชน์ใดๆ (ยกเว้นพื้นที่ทำกิน ไร่หมุนเวียนในระยะเวลาที่กำหนด)
ห้ามใช้เครื่องมือ ตาข่ายดักนกและกาวจับนกและเบื่อปลายในแหล่งน้ำในเขตป่าชุมชน
วิธีจัดการป่าโดยวิถีภูมิปัญญาชาวบ้าน
- พึ่งพาและให้ความเคารพต่อธรรมชาติ
- ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรบนกติกาที่พัฒนาขึ้นจากกการมีส่วนร่วมของชุมชน
- สร้างเขตพื้นที่การใช้ประโยชน์ พื้นที่เขตหวงห้าม โดยมีส่วนร่วมจากชุมชน
- จัดการทรัพยากรบนฐานประสบการณ์ องค์ความรู้ ภูมิปัญญา
- สร้างจิตสำนึกการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืนโดยองค์กรชุมชน
คนกับป่าพึ่งพาอาศัยกันด้วยความสมดุล
- ผลผลิตจากป่า มาใช้เพื่อการบริโภคเป็นหลัก เช่นหน่อไม้ พืชผัก หางหวาย เห็ด
- ผลผลิตจากป่าบางชนิด ได้ขายและเป็นรายได้เสริมของชุมชน โดยให้มีการหักเข้ากองทุนชุมชนส่วนหนึ่ง เพื่อเป็นกองทุนในการดูแลทรัพยากรต่อไป เช่น หน่อไม้ น้ำผึ้ง มะขม ฯ
- ใช้ทรัพยากรจากป่าเพื่อการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและเชื้อเพลิงหุงต้ม ด้วยระเบียบกติกาของชุมชน
- ใช้ยาสมุนในป่าเพื่อการรักษา โดยความรู้ ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
ประเพณีและวัฒนธรรม
- การแต่งกาย เป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรม ของชาติพันธุ์ ปกาเก่อญอ
- ประเพณีประจำปี เป็นการเชื่อทางจิตวิญญาณโดยการปฏิบัติร่วมของชุมชน
- ประเพณีพิธีกรรม การเคารพซึ่งธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปฏิบัติโดยร่วมของชุมชน
- พิธีกรรมความเชื่อ การเคารพธรรมชาติ โดยครอบครัวและด้วยตัวบุคคล
- พิธีกรรมในครัวเรือน การนับถือวิญญาณบรรพบุรุษ (ผีปู่ย่า)
- ประเพณีพิธีกรรม ที่นับถือปฏิบัติในไร่นา เคารพต่อแม่น้ำ ป่า
- ความเชื่อและจารีตความสัมพันธ์ต่อธรรมชาติ แม่น้ำ ต้นไม้ และสัตว์ป่า
การผลิตระบบวนเกษตร
- มีการปลูกพืชผสมผสานหลากหลายชนิด เน้นพืชยืนต้นเป็นหลัก
- ปลูกพืชที่มีความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- มีกฎระเบียบการจัดการที่ดิน และข้อห้ามเรื่องการเสี่ยงต่อสภาพแวดล้อม
- เพื่อการบริโภคและเป็นรายได้ของชุมชน