ไร่หมุนเวียนบ้านห้วยหินลาดใน
ฟังเรื่องราวไร่หมุนเวียน(ภาษาปกาเกอะญอ)
การทำไร่หมุนเวียน
โดยพื้นฐานแล้ว ไร่หมุนเวียนเป็นแบบแผนการผลิตที่มีการบูรณาการและการปรับตัวเข้ากับสภาพนิเวศวิทยาและวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะ โดยทั่วไป ไร่หมุนเวียนในประเทศไทยได้ผลิตพืชพันธัญญาหารหลากหลายชนิดเพื่อการบริโภคในท้องถิ่น
ในระบบไร่หมุนเวียน จะมีการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองและพืชอาหารหลากหลายชนิดในแปลงเดียวกัน การใช้ประโยชน์ที่ดินในระบบไร่หมุนเวียนจะใช้ที่ดินเพียงปีเดียว แล้วปล่อยให้ผืนดินได้พักฟื้นให้ป่าและความอุดมสมบูรณ์ของดินกลับคืนมาตามธรรมชาติ จากนั้นจึงกลับมาใช้เพาะปลูกอีกครั้งหนึ่งหลังจาก 6 – 10 ปี ดังนั้น ในแต่ละปีพื้นที่ไร่หมุนเวียนของชุมชนห้วยหินลาดจึงถูกเปิดใช้เพียงเล็กน้อยเฉลี่ยประมาณ 150 ไร่ (24 เฮกตาร์) จากพื้นที่ทั้งหมด1,590 ไร่ (254.4 เฮกตาร์) หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของพื้นที่ไร่หมุนเวียนทั้งหมด และหากเฉลี่ยแต่ละครอบครัวจะใช้ที่ดินเพียง 4 – 5 ไร่ (0.64 – 0.8 เฮกตาร์) เพื่อทำการเพาะปลูกในแต่ละปีเท่านั้น
ตามปฏิทินการทำไร่หมุนเวียน จะเริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ดินแปลงที่เหมาะสมจะถูกเลือก จากนั้นชาวบ้านจะถางไร่และตัดต้นไม้เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก (ตามธรรมเนียม ต้นไม้จะถูกตัดให้เหลือตันตอสูงประมาณ 50 ซม.เพื่อให้ลำต้นสามารถแตกกิ่งก้านใบอ่อนออกมาได้หลังฤดูเก็บเกี่ยว) หลังจากที่ดินถูกแผ่วถางแล้ว ชาวบ้านจะปล่อยให้ต้นไม้ใบหญ้าถูกแสงแดดเผาจนแห้งสนิท ประมาณปลายเดือนมีนาคมต่อต้นเมษายน เมื่อลำต้นและใบที่ถูกตัดฟันแห้งสนิทแล้ว ชาวบ้านจะทำการเผาไร่ก่อนฝนแรกของฤดูจะย่างเข้ามา 2 – 3 วัน ก่อนจะเผา
ชาวบ้านจะช่วยกันทำแนวป้องกันไฟและเลือกทำการเผาไร่ช่วงเวลา 15.00 – 17.00 น.ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แสงแดดเริ่มอ่อนตัวลง เศษไม้และวัชพืชลุกไหม้ได้ดี เปลวไฟไม่รุนแรง การเผาจะเผาจากด้านบนของแปลงลงสู่ด้านล่างตามทิศทางการไหมัของไฟและเผาจากด้านข้างทั้งสองเข้าหาใจกลางไร่เพื่อลดความรุนแรงของเปลวไฟและเพื่อป้องกันมิให้ไฟลุกลามออกนอกแปลงซึ่งในการเผาจะใช้เวลาเพียง 1 – 2 ชั่วโมงเท่านั้น หลังจากเผาไร่เสร็จประมาณ 1 สัปดาห์ ชาวบ้านจะทำการเก็บเศษไม้ที่เหลือออกจากไร่ จากนั้นจึงเริ่มปลูกพืชประเภท เผือก มัน ฟักทอง อ้อย ข้าวโพดฯลฯ ก่อนการปลูกข้าว เพื่อให้มีพืชอาหารไว้บริโภคในช่วงเพาะปลูกข้าว
โดยทั่วไป ข้าวที่เป็นพืชหลักจะปลูกในเดือนพฤษภาคม ตามประเพณี ก่อนการปลูกข้าว ชาวบ้านจะประกอบพิธีสู่ขวัญข้าวเพื่อแสดงความเคารพ พวกเขาเชื่อว่า จะช่วยให้เกิดสิริมงคลและช่วยให้ได้ผลผลิตดี ในการเพาะปลูก ชาวบ้านจะหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวกับพืชผักนานาชนิดในบริเวณเดียวกัน พืชผักแต่ละชนิดจะทยอยกันให้ผลผลิตตามช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ทำให้ชาวบ้านมีพืชผักจากไร่มาบริโภคได้ตลอดทั้งปี ส่วนข้าวจะเก็บเกี่ยวช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน ภายหลังการเก็บเกี่ยว พื้นที่ไร่จะถูกใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ชาวบ้านจะนำวัวควายเข้ามาเลี้ยงในไร่ปล่อยให้เล็มหญ้าฟางข้าวที่เหลือจากการเก็บเกี่ยว และพักพื้นที่ให้ดินและป่าได้พื้นตัวตามธรรมชาติ รอการหมุนเวียนกลับมาอีกครั้งในอีก 6 – 10 ปีข้างหน้า
ไร่หมุนเวียนและป่าชุมชนช่วยลดก๊าซเรือนกระจก
กิจกรรมในไร่นาทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประกอบด้วย ก๊าซมีเทน(CH ) จากการทำนาดำ ก๊ซไนตรัสออกไซด์ (N2O) จากการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการเผา อย่างไรก็ตามก๊าซเหล่านี้จะถูกดูดซับโดยพันธุ์พืชสีเขียวและพืชเกษตร
จากข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญด้านวนศาสตร์ระหว่างประเทศ ดร.เจอร์เก็น บเลเซอร์ ระบุว่าโดยทั่วไปในระยะฟื้นตัว ป่าต้องการก๊าซคาร์บอนเป็นจำนวนมากเพื่อผลิตลำต้นและใบใหม่ๆ ด้วยเหตุผลนี้
ป่าที่กำลังฟื้นตัวมีความสามารถสูงในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้น ไร่หมุนเวียน โดยเฉพาะในแปลงที่กำลังฟื้นตัว มีศักยภาพและความสามารถสูงในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยเช่นกัน ในขณะที่เกิดการเจริญเติบโต ต้นไม้จะแปรรูปก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นคาร์บอนอะตอม ซึ่งเป็นแท่งต่อเติมที่สำคัญตัวหนึ่งของเนื้อเยื่อของพืช เมื่อถูกเผาไหม้หรือเน่าเปื่อย คาร์บอนจะถูกปลดปล่อยกลับไปในรูปก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกครั้งหนึ่ง
การศึกษานี้ พบว่า การจัดการป่าอย่างมีประสิทธิผลและการใช้ประโยชน์จากป่าของชุมชน ซึ่งรวบขอบเขตพื้นที่ป่ทั้งหมดของ 3 สามหย่อมบ้าน 19,498 ไร่ สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ถึง661,372 ตัน สำหรับพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งมีอยู่ประมาณ 3,547 ไร่ (567.68 เฮกตาร์) จำแนกเป็นไร่หมุนเวียน 1,590 ไร่ (254.4 เฮกตาร์) นาข้าว 226 ไร่ และสวนชา 982 ไร่ สวนไม้ผล 132ไร่ สวนข้าวโพด 585 ไร่ พื้นที่เลี้ยงสัตว์ 33 ไร่ พบว่าพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดของชุมชนหัวยหินลาด สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 59,255 ตัน ซึ่งเมื่อรวมกับขีดความสามารถในการเก็บกักคาร์บอนของป่าชุมชนจะทำให้ทั้งชุมชนสามารถดูดซับคาร์บอนได้มากถึง 720,627 ตันในขณะที่มีคาร์บอนสูญเสียไปกับกิจกรรมการผลิตของชุมชน รวม 544 ตันต่อปี จำแนกเป็นการเผาไร่ข้าว 476 ตัน และการเผาไร่ข้าวโพด 68 ตัน นอกจากนั้นยังเกิดก๊าชมีเทนจากการทำนาอีก 0.8 ตัน และเกิดก๊าชไนตรัสออกไซด์จากการใส่ปุ๋ย (ไร่ข้าวโพด) อีก 0.1 ตันหากคำนวณออกมาในรูปของปริมาณก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีแล้ว กิจกรรมทางการผลิตของชุมชนมีส่วนทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศเทียบเท่า2,042.46 ตันต่อปี จำแนกเป็น การเผาไร่ข้าว 1,745.33 ตัน การเผาไร่ข้าวโพด 249.33 ตันการทำนา 16.8 ตัน และการใส่ปุ๋ย (ไร่ข้าวโพด) 31 ตัน ดังนั้น กิจกรรมการผลิตของชุมชนจึงทำให้เกิดการปลดปล่อยหรือเกิดการสูญเสียดาร์บอนในอัตราที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนโดยรวมของระบบนิเวศในชุมชน
อย่างไรก็ตาม การเผาไร่หมุนเวียน ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นสาเหตุหลักของปัญหาหมอกควันในภาคเหนือและปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จนกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงในประเทศไทยมาหลายทศวรรษ แต่จากการศึกษาพบว่าไร่หมุนเวียน (ไร่ข้าวปีปัจจุบัน+ไร่เหล่าที่พักไว้ 1-10 ปี) ครอบคลุมพื้นที่ 1,590 ไร่ สามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากถึง 17,643 ตัน ในขณะที่ทำให้เกิดการสูญเสียดาร์บอนจากการเผาไร่หมุนเวียนเพียง 476 ตัน (จากการเผาในพื้นที่ 114 ไร่ที่เปิดใช้ในปีที่ทำการศึกษา) การพักพื้นในระบบไร่หมุนเวียนที่ยาวนานขึ้นก็ส่งผลให้ความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนมีมากขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น ไร่เหล่าที่มีระยะเวลาการพัก 1 ปี มีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนประมาณ 12 ตันต่อเฮกตาร์ ไร่ที่มีการพักพื้นที่ไว้เป็นระยะเวลา10 ปี ความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนเพิ่มขึ้นเป็น 152 ตันต่อเฮกตาร์ เป็นต้น
การเปรียบเทียบศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนและปริมาณคาร์บอนที่สูญเสียไป จากไร่หมุนเวียนบ้านหินลาดใน ผาเยือง และหินลาดนอก ปี พ.ศ. 2551
เนื้อหาจาก
งานวิจัยโดยมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ(มพน.) และชุมชนห้วยหินลาดใน ด้วยการสนับสนุนจาก อ๊อกแฟม เกรท บริเทน (โครงการประเทศไทย)